เอเชีย

เกาหลีใต้

-

ข้อมูลประจำปี : 2567

สร้างเมื่อ: Jan. 18, 2023, 10:13 p.m.
เข้าชม: 602

แก้ไขล่าสุดเมื่อ: Jan. 2, 2024, 3:56 p.m. |
|

ผู้นำของเกาหลีใต้

Yoon Suk-yeol

นาย ยุน ซ็อก-ย็อล

 
เมืองหลวง กรุงโซล ชื่อทางการนครพิเศษโซล (Seoul Special City) ซึ่งเป็นเขตพิเศษปกครองตนเอง
บทนำ
ที่ตั้ง ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ทางตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เชื่อมระหว่างจีน ญี่ปุ่น กับภาคพื้นตะวันออกไกลของรัสเซีย มีเส้นขนานที่ 38 แบ่งกั้นระหว่างสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 33-43 องศาเหนือ กับเส้นลองจิจูดที่ 124-131 องศาตะวันออก (รวมเกาหลีเหนือ) มีพื้นที่ประมาณ 100,032 ตร.กม. (ลำดับที่ 108 ของโลก) คิดเป็น 45% ของคาบสมุทรเกาหลี หรือ 1 ใน 5 ของประเทศไทย เวลาเร็วกว่าไทย 2 ชม. อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับเกาหลีเหนือ ทิศตะวันออก ติดกับทะเลตะวันออก (หรือทะเลญี่ปุ่น) ทิศใต้ ติดกับทะเลจีนตะวันออก ทิศตะวันตก ติดกับทะเลตะวันตก (หรือทะเลเหลือง)
ภูมิศาสตร์
คาบสมุทรเกาหลีแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ บริเวณเหนือเส้นขนานที่ 38 คือเกาหลีเหนือ ตอนใต้ คือ เกาหลีใต้ พื้นที่ 70% ของเกาหลีใต้เป็นเทือกเขาและหุบเขา เป็นประเทศที่มีเทือกเขามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เทือกเขาตลอดชายฝั่งด้านตะวันออกมีความสูงชัน และทอดตัวลงสู่ทะเลตะวันออก ส่วนชายฝั่งทะเลทางใต้ และตะวันตก เทือกเขาค่อย ๆ ลาดลงสู่ที่ราบชายฝั่ง ทำให้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการปลูกข้าว ชายฝั่งทะเลทั้ง 3 ด้าน มีความยาวรวมกัน 2,413 กม. แม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำนักตง แม่น้ำฮัน และแม่น้ำคึม
ภูมิอากาศ
มี 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (ปลาย มี.ค.-พ.ค.) ฤดูร้อน (ปลาย มิ.ย.-ก.ย.) ฤดูใบไม้ร่วง (ปลาย ก.ย.-พ.ย.) และฤดูหนาว (ธ.ค.-กลาง มี.ค.) ระหว่าง มิ.ย.-ส.ค. เป็นช่วงที่มีฝนตกชุก อุณหภูมิโดยเฉลี่ย -5 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และ 33 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน
ประชากร
51,844,834 คน (ปี 2565) ส่วนใหญ่เชื้อสายเกาหลี อัตราส่วนประชากรจำแนกตามอายุ : วัยเด็ก (0-14 ปี) 12.02% วัยรุ่นถึงวัยกลางคน (15-64 ปี) 71.2% และวัยชรา (65 ปีขึ้นไป) 16.7% อัตราการเกิด 6.92 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการตาย 7.12 คนต่อประชากร 1,000 คน อัตราการเพิ่มของประชากร 0.24% อายุขัยเฉลี่ยของชาวเกาหลีใต้ประมาณ 82.97 ปี อายุขัยเฉลี่ยเพศชาย 79.88 ปี เพศหญิง 86.24 ปี อัตราว่างงาน 2.4% แรงงาน 29.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริหารธุรกิจและพนักงานสำนักงาน รองลงมาเป็น ภาคบริการและอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรและประมงเป็นส่วนน้อย
ศาสนา
ไม่นับถือศาสนา 56.9% พุทธ 15.5% คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ 19.7% และนิกายโรมันคาทอลิก 7.9% (ปี 2558)
ภาษา
ภาษาเกาหลี (ฮันกึล)
การศึกษา
การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี อัตราการรู้หนังสือ 98%
การก่อตั้ง
อาณาจักรแรกของเกาหลี คือ อาณาจักรโคโชซอน (โชซอนโบราณ) เป็นอาณาจักรโบราณก่อตั้งเมื่อ 2333 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีกษัตริย์ปกครอง โดยราชวงศ์โชซอนเป็นราชวงศ์สุดท้าย มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่สำคัญที่สุด คือ การยกย่องลัทธิขงจื๊อเป็นคติธรรมประจำชาติ การสร้างสรรค์งานด้านวรรณศิลป์ และการประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึลเมื่อปี 1986 ทำให้ยุคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวัฒนธรรมเกาหลี ตั้งแต่ปี 2453 เกาหลีอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่นเป็นเวลา 35 ปี จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเมื่อ 15 ส.ค.2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งเป็นสองประเทศที่เส้นละติจูดที่ 38 องศาเหนือตามข้อตกลง Potsdam เมื่อปี 2488 โดยให้อดีตสหภาพโซเวียตดูแลเกาหลีเหนือ สหรัฐฯ ดูแลเกาหลีใต้ สงครามเกาหลีเกิดขึ้นระหว่างปี 2493-2496 เมื่อเกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้เมื่อ 25 มิ.ย.2493 มีการลงนามข้อตกลงสงบศึกชั่วคราวเมื่อปี 2496 หลังจากสงครามเกาหลี เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการฟื้นฟูประเทศให้มั่นคงและมั่งคั่ง วันชาติ 3 ต.ค.
การเมือง
ปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีอำนาจยุบสภา เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง มีอำนาจประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการฉุกเฉิน รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายได้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายยุน ซ็อก-ย็อล ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 9 มี.ค.2565 และรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 พ.ค.2565 ทั้งนี้ เกาหลีใต้จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2570 ฝ่ายบริหาร : ประธานาธิบดีแต่งตั้ง นรม. และ ครม. โดยความเห็นชอบของรัฐสภา นรม.เป็นผู้ช่วยประธานาธิบดีในการบริหารประเทศและเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลรับฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการต่าง ๆ อาทิ สภาที่ปรึกษาอาวุโส สภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการวางแผนและงบประมาณ โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งประธานคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ฝ่ายนิติบัญญัติ : มีสภาเดียว สมาชิก 300 คน ส.ส. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 253 คน ที่เหลือ 47 คน เป็นผู้แทนในระบบสัดส่วน วาระ 4 ปี โดย ส.ส.เลือกประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ อีก 2 คน รัฐสภามีอำนาจถอดถอนประธานาธิบดี โดยสมาชิกเสียงข้างมากเป็นผู้เสนอ และสมาชิก 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบ ฝ่ายตุลาการ : ประกอบด้วยศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ประธานาธิบดีแต่งตั้งประธานศาลฎีกาด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา การพิจารณาของศาลกำหนดให้เปิดเผยแก่สาธารณชนทั่วไปได้ ยกเว้นในกรณีที่เห็นว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการพิจารณากฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยให้ถือเป็นโมฆะ และมีหน้าที่ตัดสินความถูกต้องของกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดี นรม. และผู้พิพากษา รวมทั้งมีอำนาจยุบพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมาย ตามข้อเสนอของฝ่ายบริหาร พรรคการเมือง : ปี 2565 มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรค Democratic Party of Korea มี ส.ส. 169 คน พรรค People Power Party มี ส.ส. 115 คน และ ส.ส.จากพรรคอื่น ๆ รวม 300 คน การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 เม.ย.2563 และจะจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2567
เศรษฐกิจ
เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 10 ของโลก เมื่อปี 2564 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.6% ตามการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่พัฒนาแล้วที่ 0.2% สะท้อนว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้มีความสามารถในการปรับตัวท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ดี ทางการเกาหลีใต้เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะรวม 2.5% ตั้งแต่ ส.ค.2564 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และผลกระทบทางเศรษฐกิจและพลังงานจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่เกาหลีใต้มีศักยภาพทางการแข่งขันลำดับที่ 27 ของโลก เมื่อปี 2565 ลดลงจากลำดับที่ 23 เมื่อปี 2564 (ข้อมูล International Institute for Management Development-IMD) ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจากประเทศยากจนและเกษตรกรรมจนเป็นประเทศอุตสาหกรรมและมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง โดยเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ตั้งแต่ปี 2539 เกาหลีใต้เคยประสบวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 แต่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถชำระคืนเงินกู้ IMF เต็มจำนวน 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐก่อนครบกำหนด 3 ปี งบประมาณ (ม.ค.-ธ.ค.2565) : 679.5 ล้านล้านวอน (507,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) รวมงบประมาณพิเศษ 2 รอบ เพิ่มขึ้น 21.8% จากงบประมาณเดิมของปี 2564 จำนวน 558 ล้านล้านวอน งบประมาณพิเศษได้รับการจัดสรรสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 รวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค สกุลเงิน ตัวย่อสกุลเงิน : วอน (won) อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ : 1,340.03 วอน : 1 ดอลลาร์สหรัฐ (พ.ย.2565) อัตราแลกเปลี่ยนต่อ 1 บาท : 37.45 วอน : 1 บาท (พ.ย.2565)
ดัชนีเศรษฐกิจสำคัญ
(ปี 2565) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) : 1,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ : 2.6% ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศและทองคำ : 414,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ ต.ค.2565 สูงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก อัตราเงินเฟ้อ : 5.5% หนี้สาธารณะเกาหลีใต้ : 54.1% ของ GDP รายได้ต่อหัวต่อปี : 33,590 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าแรงขั้นต่ำ : ปี 2565 ชม. ละ 9,160 วอน (7.40 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจาก 8,720 วอน (7.40 ดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อปี 2564 นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5% เป็น ชม. ละ 9,620 วอน (7.38 ดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2566 มูลค่าการค้าของเกาหลีใต้ : ปี 2564 ส่งออกมูลค่า 644,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 615,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุล 29,307 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ห้วง ม.ค.-ต.ค.2565 ส่งออกมูลค่า 577,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 612,695 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุล 35,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ : ปิโตรเคมี เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เรือ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก คอมพิวเตอร์ สินค้านำเข้าที่สำคัญ : น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เซมิคอนดักเตอร์ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย เคมีภัณฑ์ สิ่งทอ (ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก IMF และกระทรวงการเงินและการคลังของเกาหลีใต้)
การทหาร
ประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง กองทัพเกาหลีใต้มีกำลังพลประมาณ 555,000 นาย ในจำนวนนี้เป็น ทบ. ประมาณ 420,000 นาย งบประมาณทางทหารปี 2565 มูลค่า 54.6 ล้านล้านวอน (40,753 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 3.4% จากปี 2564 ที่มีมูลค่า 52.84 ล้านล้านวอน (43,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เกาหลีใต้พัฒนาและทดสอบขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ (Submarine-Launched Ballistic Missile-SLBM) ครั้งแรกเมื่อ ก.ย.2564 หลังสหรัฐฯ ยกเลิกนโยบายจำกัดการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีใต้ เมื่อ พ.ค.2564 เปิดโอกาสให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาขีปนาวุธทุกชนิด ทบ. มีกำลังพล 420,000 นาย ประกอบด้วย กองทัพที่ 1 (First Republic of Korea Army-FROKA) รับผิดชอบพื้นที่ตอนเหนือและชายแดนด้านตะวันออก กองทัพที่ 2 (SROKA) รับผิดชอบพื้นที่ตอนใต้ และกองทัพที่ 3 (TROKA) มีขนาดกำลังพลและยุทโธปกรณ์มากที่สุด รับผิดชอบพื้นที่ตอนเหนือ และชายแดนด้านตะวันตก รวมทั้งโซล ทร. มีกำลังพล 70,000 นาย (นาวิกโยธิน 29,000 นาย) มีฐานทัพเรือ 9 แห่งที่ จินแฮ ทงแฮ พย็องแท็ก อินชอน มกโพ โพฮัง ปูซาน เกาะเชจู และเกาะแบ็งนย็อง แบ่งเป็น 3 กองบัญชาการกองเรือยุทธการ ประกอบด้วย กองเรือภาคที่ 1 ที่ทงแฮ (1st Tonghae) รับผิดชอบทะเลญี่ปุ่น (ทะเลตะวันออก) กองเรือภาคที่ 2 ที่พย็องแท็ก (2nd Pyongtaek) รับผิดชอบทะเลเหลือง (ทะเลตะวันตก) และกองเรือภาคที่ 3 รับผิดชอบช่องแคบเกาหลี (ทะเลใต้) นอกจากนี้ ทร.เกาหลีใต้จะเน้นเสริมขีดความสามารถด้านเรือดำน้ำ โดยเมื่อปี 2558 ทร.ยกฐานะหน่วยเรือดำน้ำเป็นกองบัญชาการเรือดำน้ำมีฐานะเทียบเท่ากองเรือภาค ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเรือดำน้ำ 19 ลำ และจะเริ่มนำเรือดำน้ำชั้นชังโบโก III ขนาด 3,000 ตัน ที่พัฒนาเองเข้าประจำการเพิ่มอีก 3 ลำ ในปี 2567 เพื่อเสริมขีดความสามารถในสงครามใต้น้ำรับมือกองเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือที่มีกว่า 70 ลำ ทอ. มีกำลังพล 65,000 นาย โดยมี บ.รบประจำการประมาณ 601 เครื่อง อาทิ บ.รบ แบบ F-4E F-5E F-16C F-16D F-15K F-35A FA-50 และ บ.สนับสนุนอื่น ๆ อาทิ บ.ขนส่ง 38 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์ 49 เครื่อง และอากาศยานไร้คนขับประมาณ 15 เครื่อง นอกจากนี้ เกาหลีใต้อยู่ระหว่างพัฒนาขีปนาวุธให้มี ขีดความสามารถเพิ่มขึ้นทั้งพิสัยและอานุภาพการโจมตี เพื่อเสริมขีดความสามารถในการรับมือเกาหลีเหนือ ซึ่งมีความก้าวหน้าด้านนิวเคลียร์และขีปนาวุธอย่างต่อเนื่อง กองกำลังสำรอง (Reserve Forces) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511 มีกำลังสำรองประมาณ 3.1 ล้านนาย ได้รับการฝึกเพื่อการป้องกันประเทศ และรักษาความมั่นคงภายใน เช่น การต่อต้านการแทรกซึม การก่อวินาศกรรมของฝ่ายตรงข้าม กำลังสำรองมีขีดความสามารถด้านการรบในยามสงคราม และเป็นกำลังสำคัญในการสร้างหน่วยใหม่ หน่วยเสริมกำลัง และการทดแทนกำลังให้หน่วยรบ กฎหมายกำหนดให้ทหารที่ปลดประจำการ ต้องเป็นกำลังสำรองต่ออีก 8 ปี กกล.ทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (United States Forces Korea-USFK) เป็นสัญลักษณ์การเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ และเป็นส่วนสำคัญของการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและคาบสมุทรเกาหลี ผู้บัญชาการกองกำลังสหประชาชาติ (United Nations Command-UNC) กำลังผสมสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ (Combined Force Command) คือ ผู้บัญชาการ กกล.ทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ที่มีกำลังพลประมาณ 30,400 นาย ประกอบด้วย 1) กองทัพบกสหรัฐฯ ที่ 8 (The 8th US Army-EUSA) : กองพลทหารราบสหรัฐฯ ที่ 2 กองพลน้อยบินที่ 17 กองพลน้อยทหารม้าที่ 6 และกำลังสนับสนุนอื่น ๆ 2) กกล.ทางเรือสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Naval Forces Korea) 3) กกล.นาวิกโยธินสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Marine Forces Korea) 4) หน่วยบัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐฯ 5) กองกำลังทางอากาศสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ (US Air Forces Korea) หน่วยบัญชาการทหารอากาศสหรัฐฯ ที่ 7 มีกำลัง 2 กองบิน
ความมั่นคง
ปัญหาด้านความมั่นคงหลักของเกาหลีใต้ แบ่งเป็น 3 ประการ 1) ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ เนื่องจากทั้งสองประเทศยังอยู่ในภาวะสงคราม รวมถึงโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ขีดความสามารถในการทำสงครามทางคอมพิวเตอร์ และการยั่วยุทางทหารตามแนวพรมแดนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงหลักของเกาหลีใต้ 2) ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะต๊อก หรือทาเคชิมะในภาษาญี่ปุ่น เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ซึ่งมีผลกระทบทั้งด้านความมั่นคงทางทหารและเศรษฐกิจ และทำให้กระแสชาตินิยมในเกาหลีใต้รุนแรงขึ้นในห้วงที่เกิดประเด็นขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ และ 3) ปัญหาการก่อการร้ายและก่ออาชญากรรม เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ทำให้ กกล.พลเรือนและผลประโยชน์ของเกาหลีใต้ทั้งในและต่างประเทศมีความเสี่ยงตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย เกาหลีใต้จึงเสริมการรับมือการก่อการร้ายด้วยการเริ่มบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเมื่อ มิ.ย.2559
สมาชิกองค์การระหว่างประเทศ
เกาหลีใต้เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ และกลุ่มความร่วมมือหลายแห่ง อาทิ ADB, ACD, APEC, การประชุมในกรอบ ASEAN (ASEAN+3 และ ARF), ASEM, Australia Group, EAS, FEALAC, OECD, UN, WTO และ G-20
การขนส่งและคมนาคม
ท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่ง ท่าอากาศยานภายในประเทศ 17 แห่ง และลานจอด ฮ. รวม 466 แห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน เส้นทางรถไฟครอบคลุมและเชื่อมโยงทั่วประเทศมีทั้งหมด 6 สาย มีระบบรถไฟความเร็วสูงจากโซลไปปูซาน และมอกโป รถไฟใต้ดินมีโครงข่ายเชื่อมโยงทั่วโซล และเมืองใกล้เคียง เช่น อินชอนและท่าอากาศยานนานาชาติอินชอนรวม 16 สาย ระบบการขนส่งทางรถยนต์ ได้แก่ รถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารด่วน เทคโนโลยีด้านการโทรคมนาคมและสารสนเทศของเกาหลีใต้มีความก้าวหน้ามาก ปัจจุบันการสื่อสารแบบเคลื่อนที่ส่วนใหญ่ของเกาหลีใต้เป็นแบบ LTE (4G) ครอบคลุมพื้นที่ 97% ของประเทศ มากเป็นอันดับ 1 ของโลก (รองลงมาคือญี่ปุ่น ฮ่องกง คูเวต และสิงคโปร์ ตามลำดับ) และมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดที่ 25 เมกะบิตต่อวินาที นอกจากนี้ เกาหลีใต้กำลังพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารแบบ 5G โดยเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้บริการเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั่วประเทศ รหัสโทรศัพท์ +82 รหัสอินเทอร์เน็ต .kr เว็บไซต์การท่องเที่ยว: http://english.visitkorea.or.kr และ http://www.kto.or.th
การเดินทาง
สายการบินของไทยมีเที่ยวบินตรงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานอินชอน โดยมี 2 สายการบิน คือ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ และท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานอินชอน มี 1 สายการบิน คือ ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ทำการบินทุกวัน ส่วนสายการบินของเกาหลีใต้ที่บินตรงมาไทย คือ โคเรียแอร์ เอเซียนาแอร์ไลนส์ และเจจูแอร์ (ระยะทางประมาณ 3,728 กม.) ระยะเวลาในการบินประมาณ 5 ชม. นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา แต่หากพบว่ามีประวัติลักลอบทำงาน หรือมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจจะถูกปฏิเสธเข้าประเทศ ถูกกักตัวและถูกส่งกลับ
สถานการณ์สำคัญที่น่าติดตาม
ด้านความมั่นคง สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลียังคงมีพลวัตสูง และการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือยืดเยื้อ หลังจากเกาหลีเหนือออกกฎหมายย้ำสถานะการเป็นรัฐครอบครองนิวเคลียร์ และ นายคิม จ็อง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือประกาศเมื่อ ก.ย.2565 จะพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป และจะไม่เจรจาประเด็นดังกล่าวกับสหรัฐฯ ขณะที่เกาหลีใต้ภายใต้การดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดียุน ซ็อก-ย็อล มีนโยบายแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือ โดยยื่นข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือภายใต้ “Audacious Plan” แต่มีเงื่อนไขให้เกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ด้านสหรัฐฯ ผลักดันการส่งเสริมความร่วมมือทางทหารและความเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อรับมือภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ พร้อมกันนี้สหรัฐฯ ยังคงใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเพื่อกดดันเกาหลีเหนือ แต่เปิดโอกาสสำหรับการทูตและการเจรจา ด้านการทหาร เกาหลีใต้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการทางทหาร กรณีเกิดวิกฤติหรือสงครามเกาหลีครั้งใหม่ จากเดิมเน้นการตั้งรับรอกำลังเสริมจากสหรัฐฯ รวบรวมกำลังแล้วจึงโต้กลับ แต่ในแผนปฏิบัติการใหม่ เกาหลีใต้และสหรัฐฯ อาจชิงโจมตีก่อน หากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเกาหลีเหนือกำลังเตรียมโจมตีด้วยขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ตามหลักการ Three Axis System โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) Kill chain หรือการชิงโจมตี เพื่อทำลายศูนย์บัญชาการทางสงครามและที่ตั้งทางนิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ 2) ระบบป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธ (Korea Air and Missile Defense system-KMD) และ 3) การสังหารบุคคลสำคัญของเกาหลีเหนือ (Korea Massive Punishment and Retaliation-KMPR) เกาหลีใต้นำระบบป้องกันขีปนาวุธแบบ THAAD ของสหรัฐฯ เข้าประจำการในเกาหลีใต้แบบชั่วคราว เมื่อ ก.ย.2560 ที่เมืองซองจู ทางตอนใต้ของโซลเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยติดตั้งเพิ่มอีก 4 ฐานยิง จากเดิมที่ติดตั้งแล้ว 2 ฐานยิง เพื่อเสริมการสกัดกั้นขีปนาวุธจากเกาหลีเหนือ เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้มีเพียงระบบป้องกันขีปนาวุธรุ่นเก่าแบบ Patriot PAC-2 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือภัยคุกคาม อย่างไรก็ดี THAAD ทำให้จีนและรัสเซียไม่เห็นด้วย เฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ไม่พอใจอย่างมากและดำเนินมาตรการต่อต้านหลายแนวทาง โดยเฉพาะมาตรการทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเกาหลีใต้กับจีน
ความสัมพันธ์กับไทย
ความสัมพันธ์ไทย-เกาหลีใต้ ไทยและเกาหลีใต้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค.2501 และยกระดับเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อ 1 ต.ค.2503 มีความร่วมมือกันทั้งในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม (Joint Commission-JC) ระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกหารือภาพรวมความร่วมมือ การประชุม Policy Consultation (PC) เป็นกลไกการหารือในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อสนับสนุนและเสริมการหารือในกรอบ JC และความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ASEAN+1 กับเกาหลีใต้ ASEAN+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลีใต้ (Mekong-ROK Cooperation) นอกจากนี้ ไทยกับเกาหลีใต้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาล และ รมต.อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีการลงนามสนธิสัญญาและความตกลงความร่วมมือในหลายสาขา อาทิ วิทยาศาสตร์ แรงงาน วัฒนธรรม และการทหาร เกาหลีใต้ให้ความสนใจติดตามสถานการณ์ทางการเมืองของไทยอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แสดงท่าทีหรือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองภายในประเทศของไทย ส่วนใหญ่เป็นการติดตามสถานการณ์ และรายงานในสื่อมวลชนภาคภาษาเกาหลี ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงเริ่มต้นตั้งแต่ไทยส่งทหารเข้าร่วม กกล.สหประชาชาติในสงครามเกาหลี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประชาชนทั้งสองประเทศรู้สึกผูกพันกัน ปัจจุบัน ไทยยังคงส่งนายทหารติดต่อประจำ UNC และ จนท.หน่วยแยก ทบ.ไทยประจำกองร้อยทหารเกียรติยศ (Honour Guard Company) จำนวน 6 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่เชิญธงไทยและปฏิบัติหน้าที่ด้านพิธีการเกี่ยวกับสงครามเกาหลีใน UNC เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ไทยยังคงยึดมั่นในพันธกรณีในการรักษาสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี ไทยและเกาหลีใต้ยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงอื่น ๆ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบพหุภาคี เช่น UN ASEAN และ ARF ซึ่งไทยสนับสนุนกระบวนการปรองดองเพื่อนำไปสู่การรวมประเทศของทั้งสองเกาหลี และสนับสนุนนโยบายการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจปี 2564 มีมูลค่าการค้า 502,452 ล้านบาท โดยไทยนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 316,742 ล้านบาท ขณะที่ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มูลค่า 185,709 ล้านบาท ไทยขาดดุลการค้ากับเกาหลีใต้ 131,033 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีมูลค่าการขาดดุลอยู่ที่ 109,100 ล้านบาท ในห้วง ม.ค.-ก.ย.2565 มูลค่าการค้า 440,529 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มูลค่า 171,978 ล้านบาท และนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 268,550 ล้านบาท (กระทรวงพาณิชย์) สินค้าส่งออกหลักของไทยไปเกาหลีใต้ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ วงจรพิมพ์ เม็ดพลาสติก สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ วงจรพิมพ์ แผงวงจรไฟฟ้า (กระทรวงพาณิชย์) ด้านการลงทุน ไทยสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่ภาคธุรกิจเกาหลีใต้ และเชิญให้ นักลงทุนเกาหลีใต้ลงทุนในไทยมากขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป รวมถึงการชักชวนให้เกาหลีใต้ขยายการลงทุนผ่านโครงการด้านความเชื่อมโยงภายใต้ข้อริเริ่ม “Connecting the Connectivities” และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ของไทย โครงการลงทุนโดยตรงสุทธิจากเกาหลีใต้ในไทยปี 2564 ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand-BOI) มีมูลค่ารวม 12,418 ล้านบาท จำนวน 28 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิกส์ โลหะ/เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์ ด้านแรงงาน หลังจากเมื่อปี 2546 รัฐบาลเกาหลีใต้เปลี่ยนนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างชาติจากใช้ระบบผู้ฝึกงานอย่างเดียว เป็นใช้ควบคู่กับระบบใบอนุญาตทำงานด้วย (Employment Permit System-EPS) มีผลบังคับใช้เมื่อ 17 ส.ค.2547 กระทรวงแรงงานเกาหลีใต้คัดเลือกประเทศที่จะสามารถส่งคนงานไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ระยะแรกเพียง 8 ประเทศ (ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา คาซัคสถาน และมองโกเลีย) ไทยและเกาหลีใต้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไปเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS ครั้งแรกเมื่อปี 2547 และต่ออายุบันทึกความเข้าใจดังกล่าวอีก 2 ครั้ง คือ เมื่อปี 2549 และปี 2552 บันทึกความเข้าใจดังกล่าว เกาหลีใต้ให้โควตาแรงงานไทยไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และภาคเกษตรของเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้แรงงานไทยมีโอกาสไปทำงานในเกาหลีใต้ มากขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง เมื่อ 1 ก.พ.2555 เกาหลีใต้ทบทวนกฎหมายว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติภายใต้ระบบ EPS เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากความพยายามของประเทศผู้จัดส่งแรงงานภายใต้ระบบ EPS ที่ขยายเป็น 15 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มองโกเลีย ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อุซเบกิสถาน ปากีสถาน กัมพูชา จีน บังกลาเทศ เนปาล เมียนมา คีร์กีซสถาน และติมอร์-เลสเต และบรรเทาปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ สาเหตุหนึ่งมาจากกรณีแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบตามสัญญาจ้างงาน จะต้องเดินทางกลับประเทศของตนเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะมีสิทธิ์สมัครกลับไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้ระบบ EPS อีกครั้ง โดยจะต้องทดสอบความรู้ภาษาเกาหลี และไม่สามารถเลือกนายจ้างหรือประเภทของงาน การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 2 ก.ค.2555 โดยผ่อนผันให้แรงงานที่ทำงานครบตามสัญญา 4 ปี 10 เดือน สามารถเดินทางกลับไปทำงานกับนายจ้างคนเดิมได้ หากได้รับการร้องขอจากนายจ้าง และลดระยะเวลาการกลับไปพำนักในประเทศของตนลงจาก 6 เดือน เป็น 3 เดือน รวมทั้งผ่อนผันให้แรงงานไม่ต้องสอบภาษาเกาหลีและไม่ต้องเข้ารับการอบรมอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเพิ่มความยืดหยุ่นใน เรื่องการย้ายงานของแรงงานต่างชาติจากปัจจุบันกำหนดไว้ไม่ให้เกิน 5 ครั้ง (นับรวมการย้ายงาน เนื่องจาก สถานประกอบการปิดกิจการ หรือนายจ้างละเมิดสัญญา) เป็นจะไม่นับการย้ายงานอันเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือมิได้เกิดจากความผิดของลูกจ้าง นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ยังสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างที่ต้องขาดแรงงานที่มีฝีมือและมีความชำนาญงาน แรงงานที่จัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System-EPS) เมื่อปี 2564 มีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้จำนวน 3,249 คน เพิ่มขึ้นจากจำนวน 717 คน เมื่อปี 2563 ซึ่งเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และมาตรการควบคุมพรมแดนที่เข้มงวด แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรและปศุสัตว์ การก่อสร้าง ขณะเดียวกัน แรงงานไทยที่ยังคงทำงานอยู่ในเกาหลีใต้เมื่อ ต.ค.2565 มีจำนวน 13,810 คน คาดว่า มีแรงงานไทยผิดกฎหมายที่ยังพำนักในเกาหลีใต้ประมาณ 130,000 คน ด้านการท่องเที่ยว ไทยกับเกาหลีใต้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระดับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ไทยและเกาหลีใต้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและจัดตั้ง ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีในไทย และศูนย์วัฒนธรรมไทยในเกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมในระดับประชาชน สถิติการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ตกต่ำห้วงปี 2563 จากมาตรการเข้มงวดระหว่างพรมแดนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจำกัดวัตถุประสงค์ของการเดินทาง ทั้งนี้ อัตราการเดินทางของนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาไทย เมื่อปี 2564 มีจำนวนประมาณ 12,077 คน และห้วง ม.ค.-ต.ค.2565 จำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้มาไทยอยู่ที่ 58,552 คน (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

คณะรัฐมนตรี

รูปเกี่ยวกับ เกาหลีใต้